
แหล่งพริกพันธุ์ดี อำเภอขามสะแกแสง เป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญ และมีพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก สำหรับพริกขึ้นชื่อของอำเภอขามสะแกแสง ที่เกษตรกรนิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ “พริกจินดา” มีทรงพุ่มกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 45-60 เซนติเมตร ผลมีสีเขียว และสีแดง มีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน ให้ผลผลิตต่อต้นผลสดประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม ผลแห้งประมาณ 0.7 กิโลกรัม อายุเก็บเกี่ยวหลังการย้ายกล้าประมาณ90 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 60-90 วัน เจริญเติบโตดี ในทุกสภาพดิน สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และ “พริกยอดสน” เป็น พริกขี้หนูชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีความยาวผลระหว่าง 5-7 เซนติเมตร ลำต้นสูงปานกลาง ผลเรียวยาว สุกสีแดง เนื้อผลแน่น ผลแห้ง ผิวไม่มัน เมล็ดมาก เผ็ดหอม เหมาะสำหรับทำพริกแห้ง ตลาดพริกชนิดนี้อยู่ทาง ภาคใต้ นิยมใช้ทำเครื่องแกง พริกป่น ซึ่งราคาพริกแห้งจะสูงกว่าพริกชนิดอื่น นิยมปลูกในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ หนองคาย นครพนม และศรีสะเกษ เมื่อผลผลิต “พริก” สร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจัดงาน “วันพริกและของดีอำเภอขามสะแกแสง” เป็นประเพณีทุกๆ ปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด และส่งเสริมสินค้าประจำอำเภอให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ว่า พริกของอำเภอขามสะแกแสงมีความโดดเด่นในด้านรสชาติ และความเผ็ดที่ไม่เป็นรองใคร สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงระดับอำเภอ และจังหวัด การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงศักยภาพผลผลิตของอำเภอขามสะแกแสง และยังเป็นการสืบสานประเพณีการทำการเกษตรพื้นบ้าน ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี
หมี่เส้นสวย ผัดหมี่โคราช นั้นเป็นอาหารท้องถิ่น หน้าตาคล้ายกับผัดไทยแต่มีความแตกต่างไปจากผัดไทย ในขณะที่ผัดไทยใช้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กในการผัด ส่วนผัดหมี่โคราชจะใช้เส้นเฉพาะทางของตัวเอง ก็คือ เส้นหมี่โคราช ความแตกต่างถัดมา คือ ผัดหมี่จะไม่ใส่ไข่ และใส่เครื่องน้อยกว่าผัดไทยอยู่พอสมควร เช่น ผัดหมี่จะไม่ใส่กุ้งแห้ง ถั่ว และเต้าหู้ ผัดหมี่โคราช เป็นหนึ่งในอาหารพื้นบ้านของเมืองย่าโม ที่หาทานได้ง่ายทั่วไป เพราะในสมัยก่อนเมืองโคราชมีการปลูกข้าวเจ้ามาก จึงมีการดัดแปลงข้าวมาทำเป็นเส้นหมี่ และเพื่อเป็นการถนอมอาหารอีกรูปหนึ่งแบบด้วย จากการนำเส้นหมี่ไปตากแห้ง แล้วเก็บไว้ทานในมื้อต่อๆไป หมี่เป็นอาหารมื้อกลางวันในชีวิตประจำวันของคนโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบุญ เช่น งานโกนจุก งานบวชนาค งานแต่งงาน หรืองานสมโภชอื่นๆ ที่พอนึกหาอาหารอะไรไม่ออกเพราะทำยาก ก็มักจะนึกถึง “คั่วหมี่”หรือ “ผัดหมี่” เพราะทำง่าย และเมื่อมีงานบุญอย่างนี้ก็มักจะมีเครื่องปรุงสำหรับ “คั่วหมี่”ได้อยู่แล้ว เพิ่มแค่เพียงหาเส้นหมี่โคราชมาไว้ เพราะเครื่องปรุงหาได้ในงาน ปัจจุบัน อาหารจานนี้ ก็ยังเป็นที่นิยมรับประทานกันอยู่อย่างแพร่หลายในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่อื่นๆ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งในเรื่องของ แหล่งพริกพันธุ์ดีและหมี่เส้นสวย ตามคำขวัญของดีอำเภอขามสะแกแสงที่ว่า “แหล่งพริกพันธุ์ดี หมี่เส้นสวย กล้วยลูกใหญ่ แตงไทยหวาน สืบสานวัฒนธรรม” ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อำเภอขามสะแกแสงอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องความอดทนต่อสภาพอากาศ โรคและแมลงในพื้นที่ เปรียบได้กับคนในท้องถิ่นที่มีความอดทน ต่อความยากลำบากในการดำเนินชีวิต และหมี่โคราชในอำเภอขามสะแกแสงที่เกษตรกรในพื้นที่มีวิถีชีวิตในเรื่องการปลูกข้าวโดยสะท้อนให้เห็นได้จาก การแปรรูปข้าวไปเป็นหมี่โคราช และได้มีวัฒนธรรมในทั้งเรื่องการทำบุญในท้องถิ่น และการแบ่งปันซึ่งกันและกันในชุมชน ทำให้เราสามารถสื่อความหมายเป็นนัยได้ว่า คนอำเภอขามสะแกแสง คือ ผู้ที่มีความเข้มแข็ง ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยากลำบาก ไม่ย่อท้อต่อความไม่พร้อม และมีความร่วมมือร่วมใจคือการรวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปข้าวเจ้า เป็นเส้นหมี่ และวิถีวัฒนธรรมที่ใช้การทำนาเป็นอาชีพหลักในการดำรงชีวิตของประชากรในพื้นที่
